23 พฤษภาคม 2553

จักรวรรดิวัตร ๕

จักรวรรดิวัตร ๕ หมายถึง วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ได้แก่

๑.ธรรมาธิปไตย หมายถึง การถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย

๒.ธรรมิการักขา หมายถึง การจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม ซึ่งสามารถแยกออกได้เป้นข้อย่อย ดังนี้

ก.อันโตชน ได้แก่ ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน
ข.พลกาย ได้แก่ กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร
ค.ขัตติยะ ได้แก่ กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันหมายถึงสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง
ง.อนุยนต์ ได้แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนทั้งหมด
จ.พราหมณคฤหบดี ได้แก่ ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูอาจารย์ นักวิชาการ หมอ ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น
ฉ.เนคมชานบท ได้แก่ ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง
ช.สมณพราหมณ์ ได้แก่ พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม
ญ.มิคปักษี ได้แก่ มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย

๓.อธรรมการนิเสธนา หมายถึง ห้ามหรือกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง

๔.ธนานุประทาน หมายถึง ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น

๕.ปริปุจฉา หมายถึง ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย

จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ไม่มีความคิดเห็น: